วัตถุกันเสีย...อันตรายใกล้ตัว
เรียบเรียงโดยทีมงานฮิมายะฮฺ
วัตถุกันเสีย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า สารกันบูด เป็นสารประกอบทางเคมีที่ใช้ในการถนอมอาหารหรือยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร เนื่องจากสามารถยับยั้งหรือทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหารได้ วัตถุกันเสียสำหรับอาหารที่มีผลข้างเคียงอันตรายต่อสุขภาพคือ
1. โซเดียมเบนโซเอท (sodium benzoate,E211)
- ใช้ในน้ำอัดลม (เช่น โคคา-โคลา, เป๊ปซี่แม็กซ์, ไดเอ็ตเป๊ปซี่,สไปรท์, โอเอซิส และดร.เป๊ปเปอร์) , อาหารหมักดอง, ซอส (เช่น ซีอิ๊วขาว, ซอสเยนตาโฟ, ซอสถั่วเหลือง), แยม, เยลลี่, น้ำผลไม้, อาหารกระป๋อง
ผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- ทำให้ตับถูกทำลายเช่นเดียวกับผู้ที่ติดอัลกอฮอล์
- มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของประสาทที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
- ก่อให้เกิดอาการลมพิษ,หอบหืด ในคนที่แพ้
- เมื่อผสมกับวิตามินซีในน้ำอัดลม จะทำให้เกิดเบนซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในการสำรวจเบนซีนในน้ำอัดลมเมื่อปีที่แล้ว สำนักงานมาตรฐานด้านอาหารของอังกฤษ (เอฟเอสเอ) พบน้ำอัดลม 4 ยี่ห้อมีส่วนผสมเบนซินในสัดส่วนสูง จึงสั่งห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมเหล่านั้น
- จากการทดสอบผลของโซเดียมเบนโซเอตที่มีต่อเซลล์ของยีสต์ที่มีชีวิตในห้องทดลอง พบว่าเบนโซเอตทำลายเซลล์ไมโทคอนเดีย ซึ่งถือเป็น "สถานีพลังงาน" ของดีเอ็นเอ ทั้งนี้ไมโทคอนเดียทำหน้าที่บริโภคออกซิเจนเพื่อแปรเป็นพลังงานให้ร่างกาย ดังนั้น หากเซลล์นี้ถูกทำลายอาจเป็นสาเหตุของโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคพาร์คินสัน และโรคเซลล์ประสาทเสื่อมอย่างรุนแรง
2. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulphur dioxide,E220)
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใช้สำหรับยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ใน ผลไม้อบแห้ง โดยใช้วิธีการรมผักผลไม้ก่อนการทำแห้ง หรืออาจใช้สารละลายซัลไฟต์ฉีดพ่นผัก-ผลไม้ก่อนการทำแห้งเพื่อช่วยคงสภาพของสีและกลิ่นรส รวมทั้งรักษาวิตามินซีและแคโรทีนในผัก-ผลไม้ไม่ให้สลายตัวได้ง่าย มักใช้ในน้ำอัดลม, อาหารหมักดอง, น้ำตาลทรายขาว, เบียร์, ไวน์ ฯลฯ
ผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะมีผลไปลดการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกายได้ นอกจากนี้สารในกลุ่มนี้ยังสามารถทำลายไธอามีน (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 ในอาหารได้ด้วย ดังนั้นจึงมีประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบี 1 รวมไปถึงผักสดและผลไม้สดด้วย
- ทำให้สูญเสียแคลเซียมเพิ่มขึ้นในสัตว์ทดลอง มีผลต่อสภาวะกระดูกพรุน
- ทำให้ดีเอ็นเอถูกทำลาย
- การใช้วัตถุกันเสียในปริมาณที่มากเกินค่าที่กำหนดไว้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเหล่านั้นมากเกินความจำเป็นและไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีประกาศห้ามใช้วัตถุกันเสียในอาหารที่ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุกันเสียเลย เช่น นมและอาหารกระป๋อง ซึ่งในกระบวนการผลิตจะต้องผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อยู่แล้ว
วัตถุกันเสียไม่ใช่ของไกลตัว ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปในครัวหยิบขวดซอส, ซีอิ๊ว, น้ำหวานเข้มข้น(อย่างเฮลส์บลูบอย), น้ำผลไม้เข้มข้น, น้ำผลไม้สำหรับเด็ก, ขนมปัง (ฟาร์มเฮ้าส์) ฯลฯ รับรองว่าต้องเจอคำว่า "วัตถุกันเสีย" อย่าลืมว่าอิสลามสอนให้รับประทานอาหารที่อนุมัติและ "ดี" สิ่งที่เป็นอันตรายกับร่างกายก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่กำลังเจริญเติบโต จะซื้ออะไรให้เขาก็ต้องเลือกให้มากๆหน่อย ดวงใจของเรานี่นะ .... รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือมากๆ การอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนซื้อก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ...
เรียบเรียงจาก
วัตถุกันเสียใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อผู้บริโภค
Always read the label ..., The Guardian, June 5, 2007
ข่าวทั่วไป, กองการแพทย์ทางเลือก, พ.ค. 50
นักวิจัยเตือน! ดื่มน้ำอัดลมเกินพิกัดระวังดีเอ็นเอถูกทำลาย